ประวัติความเป็นมาวันปิยะมหาราชมีดังนี้
เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2453 ได้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเศร้าโศกให้กับประเทศไทยครั้งใหญ่หลวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงประชวรเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกษัตริย์ที่เป็นที่ เคารพรักของทวยราษฎร์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอเนกประการ ทั้งในการปกครองบ้านเมือง และพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ชนทุกหมู่เหล่า ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทางราชการได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติเรียกว่า "วันปิยมหาราช" และกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ ต่อมา "กรุงเทพมหานคร" ร่วมด้วย "สำนักพระราชวัง" ได้จัดตกแต่งพระบรมราชานุสาวรีย์ ตั้งราชวัติฉัตร 5 ชั้น ประดับโคมไฟ ทอดเครื่องราชสักการะที่หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
พระราชกรณียกิจ ที่สำคัญยิ่ง คือ การเลิกทาส ทรงตราพระราชบัญญัติขึ้น เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2417 การปฏิรูประบบราชการ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราระเบียบการปกครองขึ้นใหม่ พระองค์ทรงพัฒนาระบบการสาธารณูปโภค การประปา การรถไฟ การไปรษณีย์ การสาธารณสุข
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ต่อประเทศชาติและเหล่าพสกนิกรปวงชนชาวไทยอย่าง อเนกอนันต์ดังกล่าวรวมทั้ง ทางด้านการศึกษา พระองค์ทรงเห็นความสำคัญของการศึกษา จึงโปรดให้สร้างโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง คือ "โรงเรียนนายทหารมหาดเล็ก" ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ" ต่อมาโปรดให้ตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรขึ้นเป็นแห่งแรก คือ "โรงเรียนวัดมหรรณพาราม" และในที่สุดได้โปรดให้จัดตั้งกระทรวงธรรมการขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2435) เพื่อดูแลเรื่องการศึกษาและการศาสนา . ปัจจุบันคือกระทรวงศึกษาธิการนั่นเอง
(ที่มา http://www.obec.go.th/news/27653 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน)