ข้อมูลเทศบาล
นายโชติอนันต์  แก้วกาวิล

นายโชติอนันต์ แก้วกาวิล

นายกเทศมนตรีตำบลยางเนิ้ง
โทร : 08-1783-2686

msgสายตรงนายก

นายสมชาติ วงค์ใฝ

นายสมชาติ วงค์ใฝ

ปลัดเทศบาล
โทร : 06-1269-6611


เทศบาลตำบลยางเนิ้ง

เทศบาลตำบลยางเนิ้ง

อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่

hornข้อมูลตำบลยางเนิ้ง

วัด


วัดเวฬุวัน

  • 8 กรกฎาคม 2566
  • อ่าน 249 ครั้ง

ประวัติวัดเวฬุวัน

ประวัติและความเป็นมา

              วัดเวฬุวัน หรือวัดปันเจียง เป็นวัดที่มีประวัติมายาวนาน สร้างเมื่อ พ.ศ. 2451 วัดเวฬุวันมีช่วงของการพัฒนาวัดที่สำคัญอยู่ 3 ช่วงด้วยกัน คือ ช่วงที่ 1 ช่วงเริ่มต้นสร้างวัด ในสมัยของครูบาสมุห์แก้ว คุณธัมโม ช่วงที่ 2 ช่วงบูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุภายในวัด และพัฒนาวัดในด้านต่าง ๆ ในสมัยของครูบาขัตติยะ (ก้อนแก้ว ขัตติโย) ช่วงที่ 3 ช่วงสืบสานงานด้านพุทธศาสนาซึ่งอยู่ในช่วงปัจจุบันนี้ ในสมัยของหลวงปู่พระครูสัทธา โสภณ (อ้าย โสภณ)

            วัดเวฬุวัน เดิมมีหลายชื่อด้วยกัน เพราะได้ย้ายไปหลายสถานที่เพื่อให้เหมาะสมแก่การตั้งชื่อวัด ดังที่ ส.ท. สิงห์คำ แสงหล้า ได้ฟังคำบอกเล่าจากพ่ออุ้ยน้อยหน้อย แสงหล้า ซึ่งมีศักดิ์เป็นปู่ ได้เล่าให้ฟังว่า "จุดเริ่มต้นของวัดเวฬุวัน เริ่มต้นจากสมัยครูบาสมุห์แก้ว คุณธัมโม สมัยนั้นพ่ออุ้ยน้อยหน้อยได้เคยบวชเป็นสามเณรร่วมกับครูบาสมุห์แก้วที่วัดหัวหนอง ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของบ้านโป่งแห้ง ปัจจุบันอยู่ใน หมู่ 7 ตำบลหนองผึ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นได้ย้ายจากวัดหัวหนองมาที่วัดเชียงยืนใต้และวัดปันเจียง ซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัดเวฬุวันในปัจจุบัน และได้ย้ายจากวัดปังเจียงมาตั้งวัดใหม่ชื่อว่า "วัดป่าหนาด" อยู่ช่วงหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันวัดป่าหนาดอยู่ใน หมู่๒ ตำบลยางเนิ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ จากวัดป่าหนาดก็ย้ายมาอยู่ที่วัดเวฬุวัน ณ ในปัจจุบันนี้ ซึ่งอยู่ห่างจากวัดป่าหนาด ประมาณ 300 เมตรเท่านั้น" สำหรับ "วัดปันเจียง" ห่างจากที่ตั้งวัดในปัจจุบันไปทางทิศตะวันตกประมาณ 1 กิโลเมตร ปัจจุบันนี้สถานที่ดังกล่าวเป็นธรณีสงฆ์ของวัดเวฬุวัน มีเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่เศษ จากการบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่หลายท่านบอกว่า วัดปันเจียง ก่อนหน้านี้ประมาณ 100 กว่าปีมาแล้ว ตั้งอยู่ห่างจากที่ธรณีสงฆ์ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 500 เมตร ชื่อว่า "วัดเชียงยืนใต้" แต่สถานที่ดังกล่าวเป็นที่ลุ่มมักจะมีน้ำท่วมขังในฤดูฝน จึงได้ย้ายมาหาที่ใหม่ จะเป็น พ.ศ. เท่าไรนั้นไม่อาจจะทราบแน่นอนได้ เมื่อเริ่มทำการก่อสร้างนั้น ชาวบ้านได้ขุดพบเงินเจียงหรือเงินจีนโบราณ จำนวน 1,000 เจียง พร้อมทั้งพระเครื่องอีกเป็นจำนวนมากฝังอยู่ใต้ดิน ต่อมาเมื่อสร้างวัดเสร็จแล้วจึงให้ชื่อวัดใหม่ว่า "วัดปันเจียง"

            ต่อมาในปี พ.ศ. 2451 พระยาสุรสีหวิศิษฐ์ศักดิ์ ข้าหลวงพิเศษมณฑลพายัพ ได้ริเริ่มโครงการขยายทางเชื่อมจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน และให้ชาวบ้านปลูกต้นยางไว้ 2 ข้างทาง เพื่อกำหนดเขตอำเภอสารภี อีกทั้งยังทำให้ถนนร่มรื่นเป็นเอกลักษณ์ของถนนสายสารภีอีกด้วย ชาวบ้านที่อยู่ใกล้ทางจะต้องออกมาปลูกต้นยางครอบครัวละ 1 ต้น และจะต้องหมั่นดูลรักษาให้ดี ผู้ใดสามารถดูแลรักษาดีจนต้นไม้เจริญเติบโตไม่ล้มตาย ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีค่านาประจำปีคนละ 4 บาท ซึ่งในสมัยนั้นถือเแ็นจำนวนเงินที่มากพอดู ในปีเดียวกันนั้นเอง ครูบาสมุห์แก้ว คุณธัมโม พร้อมด้วยคณะศรัทธาวัดปันเจียงได้ประชุมปรึกษาหารือกันว่าต่อไปวัดแห่งนี้จะอยู่ไกลถนน การไปมาไม่สะดวกและจะยากแก่การพัฒนา ประกอบกับพื้นที่ของวัดมีน้อยเพียง 1 ไร่เศษเท่านั้น ด้วยสายตาที่ยาวไกลของบรรพชนเหล่านี้ โดยการนำของครูบาสมุห์แก้ว คุณธัมโม จึงได้มีความคิดเห็นร่วมกันว่า ให้ออกมาสำรวจหาสถานที่เพื่อก่อสร้างวัดใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับคำบอกเล่าของพ่ออุ้ยน้อยหน้อยที่ได้เล่าให้ ส.ท.สิงห์คำ แสงหล้า ฟังว่า "สาเหตุที่ย้ายวัดจากวัดปันเจียง มาที่วัดป่าหนาด และย้ายมา ณ ที่ตั้งวัดปัจจุบันนี้เพราะว่าขณะนั้นถนนสายสารภีกำลังเริ่มสร้าง ครูบาสมุห์แก้วแล้ว จึงเล็งเห็นถึงการคมนาคมที่สะดวกสบาย และความเหมาะสมในการพัฒนาวัดให้เจริญยิ่งขึ้น จึงได้ย้ายวัดมาตั้ง ณ วัดเวฬุวันในปัจจุบัน" และเมื่อชาวบ้านได้ทราบว่าครูบาสมุห์แก้ว จะย้ายวัดออกมาอยู่ใกล้ ๆ กับบ้านของตนต่างก็พากันบริจาคที่บ้าง มาช่วยถางป่าไม้บ้าง และไม่นานก็ได้พื้นที่กว้างหลายสิบไร่สำหรับการสร้างวัดใหม่ และได้ย้ายออกมาสร้างวัดใหม่ เมื่อวันอังคาร ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2451 หรือจุลศักราช 1270 ตรงกับเดือน 8 เหนือ แรม 12 ค่ำ ณ ที่ตั้งวัดปัจจุบัน ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 144 หมู่ 2 ตำบลยางเนิ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และได้เปลี่ยนชื่อวัดเป็น "วัดดวงดี" แต่ต่อมาไม่นานครูบาท่านได้พิจารณาเห็นว่าภายในบริเวณวัดมีกอไผ่เกิดขึ้นมาเป็นจำวนมาก จึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า "วัดเวฬุวัน" เพื่อให้เหมาะสมกับที่ตั้งวัด และได้ใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน

วัดเวฬุวัน (ปันเจียง) ต.ยางเนิ้ง อ.สารภี จ.เชียงใหม่




สถานที่ตั้ง

          ตั้งอยู่เลขที่ 114 หมู่ที่ 2 ตำบลยางเนิ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 8 ไร่ 3 งาน 5 ตารางวา





แชร์หน้านี้: