นายสมชาติ วงค์ใฝ
ปลัดเทศบาล
โทร : 06-1269-6611
ข้อมูลตำบลยางเนิ้ง
วัด
วัดแสนหลวง
- 7 กรกฎาคม 2566
- อ่าน 129 ครั้ง
ประวัติวัดแสนหลวง
ประวัติและความเป็นมา
ในรัชสมัยของพระเจ้าเมกุฎิวิสุทธิวงศ์ แห่งราชวงศ์เม็งราย องค์ที่ 20 ได้เสียเมืองเชียงใหม่ให้แก่พระเจ้าบุเรงนองมหาราช กษัตรย์พม่า เมื่อปี พ.ศ. 2102 และพระองค์ได้ถูกจับตัวไปยังกรุงอังวะ นับตั้งแต่นั้นมาลานนาไทยก็หมดอิสรภาพโดยสิ้นเชิงและต้องตกไปอยู่ใต้อำนาจของพม่าเป็นเวลาช้านานถึง 216 ปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2317 พญ่าจ่าบ้าน (บุญมา) ซึ่งเป็นน้าของพระเจ้ากาวิละ ได้ร่วมกับพระเจ้ากาวิละ นำทัพของพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งตั้งตนเป็นใหญ่ หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา เข้าตีเมืองเชียงใหม่ ทำการขับไล่พม่าออกจากแผ่นดินลานนา เมืองเชียงใหม่จึงเป็นอิสระอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็หาความผาสุกมิได้ ไพร่ฟ้าประชากรไม่เป็นอันทำมาหากิน เนื่องจากถูกพม่ายกทัพมารบกวนอยู่เสมอ ซ้ำร้ายยังขาดแคลนเสบียงอาหาร ประกอบกับป้อมคูประตูหอรบชำรุดทรุดโทรมมาก จึงปรึกษากันอพยพผู้คนถอยร่นจากเมืองเชียงใหม่ มาตั้งรับข้าศึกอยู่ที่ "เวียงหวาก" เวียงหวากนี้ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอสารภี เป็นเวียงร้างสร้างมาแต่ครั้งใดไม่ปรากฏหลักฐาน เหลือแต่ซากของกำแพงและมูลดินขาดเป็นช่อง ๆ จึงเรียกว่า เวียงหวาก ในปัจจุบันนี้ถูกชาวบ้านบุกเบิกจับจองเป็นที่อยู่อาศัย ไม่ได้รับความการอนุรักษ์รักษาไว้เป็นมรดกตกทอดให้ชนชั้นหลังได้เห็นร่องรอยโบราณสถานอันเก่าแก่นี้
เมื่อพระเจ้ากาวิละเป็นเจ้าหลวงเชียงใหม่ พระองค์ได้ตั้งคณะผู้ทรงอำนาจเพื่อดูแลราชการบ้านเมืองขึ้นคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะปฐมอัครมหาเสนาบดี" มีอยู่ 4 เหล่า ได้แก่ 1)พญาแสนหลวง 2)พญาสามล้าน 3)พญาจ่าบ้าน 4)พญาเด็กชาย เทียบเท่ากัตำแหน่ง เวียง วัง คลัง นา นั่นเอง มีบทบาทในการบังคับบัญชางานด้านต่าง ๆ ตามความเหมาะสม "คณะอัครมหาเสนาบดี" นี้มิใช่เจ้านายพี่น้องและลูกหลานเชื้อสายเจ้าเจ็ดตนแต่เป็นเสนาอำมาตย์ผู้ใหญ่ต่างพระเนตรพระกรรฐ์ของพระองค์ท่านที่ไว้เนื้อเชื้อใจได้ หลังจากที่พระเจ้ากาวิละและพญาจ่าบ้านได้อพยพผู้คนถอยร่นจากเมืองเชียงใหม่มาตั้งรับข้าศึกอยู่ที่ "เวียงหวาก" จึงปรึกษาหารือกัน และเห็นชอบตรงกันว่าควรจะสร้างวัดขึ้นสักวัดหนึ่ง เพื่อไว้บำเพ็ญกุศลของข้าราชการในราชสำนักและไพร่ฟ้าประชากร จึงประชุมเสนาอำมาตย์และชาวเมือง ที่ประชุมมีมติให้สร้างวัด โดยมอบอำนาจให้พญาแสนหลวงเป็นสล่า (นายช่าง) ออกแบบก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2338 ตรงกับเดือน 6 เหนือ (เดือน 4 ใต้) ออก 15 ค่ำ ยามแถลรุ่ง (ใกล้รุ่งอรุณ) เป็นเวลาฤกษ์งามยามดี จึงได้ทำพิธีฝังลูกนิมิตโดยอาราธนามหาเถรเจ้าจ่อคำต๊ะโรเป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์ พญาแสนหลวงเป็นหัวหน้าฝ่ายฆราวาสแบ่งหน้าที่ให้ผู้ชำนาญแต่ละหมวดหมู่ไปรับงานไปทำ การก่อสร้างดำเนินงานไปเกือบจะเสร็จ ทางสล่าอยากจะได้จอง (เตียง) ไว้ในโฮง (กุฎิ) ให้พระสงฆ์ไว้นอน และอยากจะได้เตียงถวายเจ้าเหนือหัว (พระยากาวิละ) ด้วย จึงได้พาพวกสล่าไปตัดต้นไม้ยางต้นหนึ่ง ในตำนานกล่าวว่าเป็นต้นไม้ใหญ่ขนาดสามคนโอบ มีลำต้นเนิ้ง (เอน) ไปทางทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าต้นยางต้นนี้คงจะขึ้นอยู่แถวบริเวณโรงฆ่าสัตว์เทศบาลเดิมเพราะเป็นเวลาล่วงเลยมาเป็นเวลาสองร้อยกว่าปีแล้ว พอคณะช่างไปถึงต้นยางใหญ่ สล่าหมิ่น จองต๊ะ ผู้เป็นหัวหน้าก็ยกขวานใหญ่ฟันลงไปต้นยางนั้น ก็บังเกิดอาเพศ โดยต้นยางใหญ่ต้นนั้น มีอาการสั่นสะเทือน และมีเสียงครางฮือ ๆ เหมือนได้รับความเจ็บปวดอย่างแสนสาหัส พวกสล่าเหล่านั้นต่างพากันทิ้งเครื่องมือวิ่งหนีไปคนละทิศละทาง ผู้ที่มีสติดีกว่าเพื่อนได้แก่พญาแสนหลวงผู้เป็นหัวหน้าได้ตะโกนสั่งให้ลูกน้อง ไปนำเอาข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียน เหล้าไห ไก่คู่ หมาก เมี่ยง พลู ยา มาตั้งศาลเพียงตาทำพิธีบวงสรวง เสร็จแล้วจึงสั่งให้นายช่างเข้าตัดต้นยางต่อไป คราวนี้ปรากฎว่า ไม่มีการสั่นสะเทือนหรือเสียงครางออกมาจากต้นยางแต่ประการใดอีกเลย การก่อสร้างวัดก็สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ไม่นานนักพญาแสนหลวงก็ถึงแก่อนิจกรรมลงและอีกเพียง 3 วัน มหาเถรจ่อคำต๊ะโร เจ้าอาวาสก็ถึงแก่มรณกรรมลงในระยะเวลาใกล้ ๆ กันนั้น พระเจ้ากาวิละจึงได้จัดการปลงศพพร้อมกัน เมื่อทำบุญปลงศพเสร็จแล้ว จึงได้ให้สล่าแป๋งหอ (ศาล) ไว้สองหอ หอคำสร้างไว้ที่หลังพระวิหาร ต่อมาหอคำนี้ก็ได้หายสาบสูญไป ส่วนอีกหอหนึ่ง คือ หอพญาแสนหลวงที่สร้างไว้ที่แจ่ง (มุม) กำแพงวัดด้านเหนือ คือที่ริมศาลาบาตร ใต้ต้นโพธิ์ตราบเท่าทุกวันนี้ พระเจ้ากาวิละและพญาจ่าบ้าน จึงได้พระกรุณาโปรดให้ตั้งชื่อวัดนี้ว่า "วัดแสนหลวง" เพื่อให้เป็นอนุสรณ์ให้แก่ "พญาแสนหลวง" นายช่างใหญ่ผู้ออกแบบและดำเนินการก่อสร้างวัดนี้ ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2338 ส่วนศาลพญาแสนหลวง ต่อมาได้นามว่า "ศาลเจ้าพ่อแสนหลวง" เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของประชาชน
สถานที่ตั้ง
ตั้งอยู่เลขที่ 2 หมู่ที่ 3 ตำบลยางเนิ้ง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน